.

วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กฎบัตรอาเซียน

กฎบัตรอาเซียน
(ASEAN Charter)


กฎบัตรอาเซียน เป็นร่างสนธิสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนอกจากการประมวลสิ่งที่ถือเป็นค่านิยม หลักการและแนวปฏิบัติในอดีตของอาเซียนมาประกอบกันเป็นข้อปฏิบัติอย่างเป็นทางการสำหรับประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีการปรับปรุงแก้ไขและสร้างกลไกใหม่ขึ้น พร้อมกับกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรสำคัญในอาเซียน ตลอดจนความสัมพันธ์ในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2558 

ก่อนที่จะมีการจัดทำกฎบัตรอาเซียน อาเซียนดำเนินการในรูปแบบความร่วมมือเชิงมิตรภาพในภูมิภาคและเลี่ยงการกำหนดสิทธิหน้าที่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้นำในภูมิภาคได้อาศัยอาเซียนเป็นเวทีดำเนินความร่วมมือบนพื้นฐานของความยินยอม และความสมัครใจของสมาชิกเป็นหลัก การดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือหรือการอาศัยฉันทามติ โดยเลี่ยงการอ้างสิทธิหน้าที่และการแทรกแซงทางการเมืองระหว่างสมาชิก (Non intervention) ซึ่งแนวปฏิบัตินี้ที่เรียกว่า "The ASEAN Way" ได้ช่วยให้ความร่วมมือดำเนินมาได้โดยปราศจากความขัดแย้งรุนแรงแม้ว่าสมาชิกแต่ละประเทศจะมีระบบกฎหมายและนโยบายทางการเมืองที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่ออาเซียนมิได้มุ่งที่จะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาเป็นฐานในการดำเนินการ จึงมิได้มีการจัดทำสนธิสัญญาหรือกฎบัตรอาเซียนมาตั้งแต่ต้น
ต่อมา เมื่อเดือนธันวาคม 2540 ในการประชุม ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมประกาศ "วิสัยทัศน์อาเซียน 2020" (ASEAN Vision 2020) โดยกำหนดเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) อาเซียนจะมีรูปแบบความร่วมมือที่พัฒนาใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าเดิม ต่อมาในการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 9 ในเดือนตุลาคม 2546 ที่บาหลี ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) เพื่อให้เกิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยจะประกอบด้วย 3 เสาหลัก (Pillars) ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community - ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC)

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2547 ได้มีการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 10 ณ กรุงเวียงจันทน์ และบรรดาผู้นำอาเซียนได้ประกาศแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme) ซึ่งได้สนับสนุนการจัดทำกฎบัตรอาเซียนเพื่อรองรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2563 และในเดือนธันวาคม 2548 ได้มีการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 11 ณ กรุงบาหลี โดยบรรดาผู้นำได้ร่วมกันประกาศ หลักการสำคัญในการจัดทำกฎบัตรอาเซียนและได้มอบหมายให้ ?คณะผู้ทรงคุณวุฒิ? (Eminent Persons Group) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการต่างประเทศจากแต่ละประเทศสมาชิก เป็นผู้จัดทำข้อเสนอแนะเบื้องต้นและลักษณะทั่วไปของกฎบัตรอาเซียน ซึ่งคณะผู้ทรงคุณวุฒิได้ประชุมหารือร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จนสามารถสรุปข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการจัดทำกฎบัตรในรูปแบบ "รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องกฎบัตรอาเซียน" ในเดือนธันวาคม 2549 และเมื่อเดือนมกราคม 2550 ในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 12 ณ กรุงเซบู บรรดาผู้นำได้ร่วมกันประกาศรับรองรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับกฎบัตรอาเซียนและได้มอบหมายให้ "คณะทำงานระดับสูง" หรือ High Level Task Force ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญจากแต่ละประเทศสมาชิกเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำร่างกฎบัตรอาเซียนและเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โดยให้อาศัยหลักการสำคัญที่บรรดาผู้นำประเทศได้ร่วมกันประกาศไว้ ณ กรุงบาหลี และกรุงเซบู รวมถึงให้พิจารณาจากข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถนำร่างกฎบัตรไปพิจารณาในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 ณ ประเทศสิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ต่อไป จากนั้นก็จะได้มีการตรวจสอบ รับฟังความคิดเห็น ก่อนผู้นำประเทศจะลงนาม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

Vedio Asean

ASEAN PLUS +